กทม. จับมือ JICA เปิดตัวโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางกระเช้าลอยฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

         วันพุธที่ 10 สิงหาคม 2565 เวลา 13.30 – 16.00 น. กรุงเทพมหานคร ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency (JICA) จัดประชุมเปิดตัวโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางกระเช้าลอยฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี        ผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีทั้งหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และนอกสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมเจ้าท่า กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม และเลขานุการโท ผู้แทนสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) และยังมีผู้แทนบางหน่วยงาน  เข้าร่วมประชุมผ่านการประชุมทางไกล (ZOOM Cloud Meetings) อีกด้วย

          โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางกระเช้าลอยฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะภายใต้แผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556 – 2566 จึงได้รับการดำเนินการภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรเพื่อการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556 – 2566 (The Project for Strengthening Institutional Capacity      for the Implementation of Bangkok Master Plan on Climate Change 2013 – 2023)            โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

(1) เพื่อสำรวจและสรุปกรณีศึกษาเกี่ยวกับกระเช้าลอยฟ้าของเมืองอื่น ๆ

(2) เพื่อตรวจสอบนโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และขั้นตอนที่จำเป็น

(3) ดำเนินการสำรวจเส้นทางที่เป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางกระเช้าลอยฟ้า ๓ เส้นทาง เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนากระเช้าลอยฟ้า รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการโดยประมาณ

          จาการทบทวนผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ พบว่า ภาคการขนส่งเป็นภาคที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่เป็นอันดับสองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รองจากภาคพลังงาน ในการนี้ เพื่อเร่งดำเนินให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งทางราง เช่น รถไฟ และรถไฟฟ้า แต่ก็จำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาการการอำนวยความสะดวกของการขนส่งสาธารณะด้วยการเชื่อมต่อทางรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดิน  ที่วิ่งคู่ขนานกัน อีกทั้ง กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงประเทศไทย ซึ่งได้แบ่งออกเป็นฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกโดยแม่น้ำเจ้าพระยา จึงควรส่งเสริมและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน ดังนั้น การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อระบบการขนส่งสาธารณะทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เพียงแต่จะเป็นการปรับปรุงและอำนวยความสะดวกของชาวกรุงเทพมหานคร รวมถึง ประชาชนผู้เดินทางทั่วไป แต่ยังช่วยกระตุ้นความต้องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

         การนี้ประชุมนี้ จึงเป็นเวทีในการอภิปรายและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรับฟัง    ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมในการสนับสนุนความเป็นไปได้เกี่ยวกับการพัฒนาเส้นทางกระเช้าลอยฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยผลการศึกษามีความมุ่งหวังว่าจะได้เส้นทางกระเช้าลอยฟ้าที่เป็นไปได้ ๓ เส้นทาง พร้อมทั้งการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนากระเช้าลอยฟ้าต่อไป

Similar Posts