กทม. ร่วมกับ JICA จัดประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 ครั้งที่ 1/2565

กทม. ร่วมกับ JICA จัดประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ครั้งที่ 1/2565

 

วันที่ 19 เม.ย. 65 เวลา 13.30 น. นายวิรัตน์  มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรเพื่อการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม 1 สำนักสิ่งแวดล้อม ผ่านการประชุมทางไกล (ZOOM Cloud Meetings)

 

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้รับการสนับสนุนและดำเนินงานร่วมกับองค์การ JICA ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556 – 2566 พร้อมทั้งได้จัดทำรายงานการทบทวนผลการดำเนินงานแบบองค์รวม ระยะสิ้นสุดแผน และเพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายระดับประเทศ และนโยบายระดับโลก จึงได้ในการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 โดยได้จัดการประชุมพิจารณาแผนการดำเนินงานตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรเพื่อการดำเนินงาน ตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566

 

การประชุมครั้งนี้เป็นการรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมตามผลลัพธ์ของโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรฯ ความก้าวหน้าของการจัดทำแผนแม่บทฯ ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2564 – 2573) และการปรับแผนการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรฯ ที่จะดำเนินการในปี 2565 พร้อมกันนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนแผนฯ จากหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครเข้าร่วมประชุม ได้แก่ สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการระบายน้ำ สำนักการแพทย์ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมพิจารณาผลลัพธ์การดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการวางแนวทางการปรับตัวที่จะบรรจุไว้ในรายงานการทบทวนผลการดำเนินงานแบบองค์รวม ระยะสิ้นสุดแผน โดยมีผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นจากองค์การ JICA และที่ปรึกษาโครงการร่วมนำเสนอการดำเนินการ

 

ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวในท้ายว่า การประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนแผนฯ ครั้งที่ 1/2565 นี้ เป็นการช่วยเสริมประสิทธิภาพและปูทางไปสู่การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงเทพฯ ในอนาคต และสามารถที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างแท้จริง

Similar Posts