เดินหน้าศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยแบบจำลอง Asia-Pacific Integrated Model (AIM)
เดินหน้าศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยแบบจำลอง Asia-Pacific Integrated Model (AIM)
วันนี้ (22 มี.ค. 67) เวลา 13.00 น. นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมรายงานผลโครงการศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยแบบจำลอง Asia-Pacific Integrated Model (AIM) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนจากสถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลก (IGES) คณะทำงานจากสถาบันเพื่อการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่น (NIES) และผู้เชี่ยวชาญแบบจำลอง AIM ในการดำเนินโครงการศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยแบบจำลอง AIM ตั้งแต่ปี 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฉากทัศน์อนาคตในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ. 2050) ด้านการใช้พลังงาน และประเมินผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทางเลือกนโยบายของกรุงเทพมหานคร เพื่อมุ่งสู่เมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ. 2050) โดยนำข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม มาประกอบการศึกษา และจัดทำฉากทัศน์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรุงเทพมหานครในปี ค.ศ. 2050 ได้แก่ แบบสถานการณ์ปกติกรณีไม่มีการดำเนินมาตรการ (BAU Scenario) แบบการดำเนินมาตรการลดผลกระทบต่าง ๆ (Countermeasure Scenario) และแบบการดำเนินการที่มีความท้าทาย (Ambitious Scenario) ซึ่งผลการศึกษาปีที่ 1 พบว่าฉากทัศน์ในอนาคตของกรุงเทพมหานครแบบการดำเนินการที่มีความท้าทาย ปี พ.ศ.2593 (ค.ศ. 2050) กรุงเทพมหานครยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
หากกรุงเทพมหานครจะบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 จะต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มปริมาณพลังงานทดแทน การนำพลังงานชีวมวลทดแทนการใช้น้ำมัน การส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจนมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถพลังงานไฮโดรเจน การใช้เทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อให้ศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน จึงควรขยายผลในประเด็นขยะ น้ำเสีย และพื้นที่เขียว เพื่อจัดทำมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรุงเทพมหานครต่อไป ดังนั้น การศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฯ ปีที่ 2 จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำฉากทัศน์และมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี พ.ศ. 2583 (ค.ศ. 2040) และ พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ในด้านขยะ น้ำเสีย และพื้นที่เขียว และมีการเพิ่มการศึกษาด้านพลังงานในปี พ.ศ. 2583 (ค.ศ. 2040) ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานครที่จะบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 และนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “คาร์บอนคุมได้ กทม. ปลอดคาร์บอน” รวมถึงสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรุงเทพมหานครที่กำหนดไว้ เพื่อมุ่งพยายามสู่การเป็น “เมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ภายใน พ.ศ. 2593 เพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถกำหนดทิศทางนโยบายและมาตรการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินงานในระดับประเทศและระดับนานาชาติในการมุ่งสู่การเป็นเมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยในหารประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็น เพื่อนำมาพิจารณาแนวทางในการดำเนินการต่อไป
การประชุมในวันนี้มี นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม Mr. Yoshinori SUGA ผู้อำนวยการสำนักงานโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนกระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น Mr. Jun Ichihara และMs. Ishikawa Tomoko สถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลก (IGES) เจ้าหน้าที่สถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลกประจำประเทศไทย (IGES ประจำประเทศไทย) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) Mr. Yuki Ochi นักวิจัย บริษัท E-Konzal จำกัด Prof. Ho Chin Siong, University of Technology Malaysia ที่ปรึกษาโครงการ บริษัท ครีเอจี้ จำกัด ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุม