หารือ EU ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
หารือ EU ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (6 มี.ค. 67) เวลา 14.15 น. นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นางสาวกาโรลีน เอเดอรี หัวหน้าหน่วยการต่างประเทศและการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะกรรมาธิการยุโรปและคณะ ร่วมหารือโครงการความร่วมมือไทย – เยอรมนี ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิจารณาแนวทางความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นกิจกรรมหรือโครงการที่กรุงเทพมหานครดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) รวมถึงแนวทางการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนถึง พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และประเด็นความสนใจของกรุงเทพมหานครในการสร้างความร่วมมือด้านอากาศและสิ่งแวดล้อมกับคณะกรรมาธิการยุโรป
สำหรับโครงการความร่วมมือไทย – เยอรมนี ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Cooperation on Energy Mobility and Climate: TGC-EMC) ดำเนินการโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในด้านพลังงานทดแทน การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 – ธันวาคม 2570
ทั้งนี้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการดังกล่าว และมีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมดำเนินโครงการ ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการให้ความเห็นต่อ (ร่าง) ข้อตกลงการดำเนินโครงการฯ เพื่อพิจารณาลงนามในบันทึกข้อตกลง และการประชุมหารือถึงแนวทางการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทกรุงเทพมหานครฯ รวมถึงโครงการที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ประกอบด้วย 1. ด้านพลังงานทดแทน เช่น การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคารในสังกัดกรุงเทพมหานครและที่จอดรถสาธารณะ 2. ด้านการขนส่ง เช่น การจัดทำแผนที่นำทางเพื่อพัฒนาการเชื่อมต่อของระบบขนส่งสาธารณะ การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 3. ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม เช่น การส่งเสริมการเปลี่ยนหลอดไฟ LED การติดตั้งระบบจัดการพลังงาน และ 4. การดำเนินงานด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การพัฒนาระบบติดตามผลการดำเนินงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
การหารือในวันนี้มีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานการต่างประเทศ ร่วมหารือ ณ ห้องประชุม 1 สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง