แผนแม่บทกรุงเทพมหานครเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยมีผู้คนอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคน ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ และมีความท้าทายต่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการรองรับภัยพิบัติ เช่น ผลกระทบจากน้ำท่วม ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และ ความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ กรุงเทพมหานครต้องตระหนักถึงความสำคัญของภาวะโลกร้อน จึงเป็นที่มาของการจัดทำแผนปฎิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550-2555 ต่อมา ในปี พ.ศ. 2556 กรุงเทพมหานคร โดยการสนับสนุนจากไจกา และเมืองโยโกฮามา ได้เล็งเห็นว่าการพัฒนาศักยภาพขององค์กร เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยั่งยืนและสามารถติดตามความก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน เริ่มแสดงให้เห็นความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต จนทำให้มีการเรียกร้องความร่วมมือจากบรรดาประเทศสมาชิกอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ในที่ประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) กำหนดให้แต่ละภาคีต้องแจ้งและจัดให้มีการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally determined contributions: NDCs) อย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020 (Intended Nationally Determined Contribution : INDC) และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ดังนั้น กรุงเทพมหานคร เห็นควรให้มีการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับปี พ.ศ. 2563-2573 ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 42.75 MtCO2e ในปีพ.ศ. 2559 (ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจากกรณีที่ไม่ดำเนินมาตรการใด ๆ (BAU) ในปีพ.ศ. 2559 อยู่ที่ 46.83 MtCO2e)