การประชุมเชิงวิชาการ การแลกเปลี่ยนความรู้ เรื่อง “การเตรียมความพร้อมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคพื้นเอเชีย” (Knowledge Sharing on Climate Readiness Efforts in Asia) ประจำปี 2564

          วันพุธที่ 20 มกราคม 2564 เวลา 13.00 – 15.00 (ตามเวลาประเทศไทย) กรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มงานยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม ได้รับเชิญจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) เข้าร่วมการประชุมเชิงวิชาการ การแลกเปลี่ยนความรู้ เรื่อง “การเตรียมความพร้อมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคพื้นเอเชีย” (Knowledge Sharing on Climate Readiness Efforts in Asia) โดยเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมีผู้เข้าร่วมจากองค์การ JICA (สำนักงานใหญ่) องค์การ C40 และเมืองโยโกฮามา กรุงเทพมหานคร และผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นกลาง และปลัดกรุงเทพมหานครเห็นชอบมอบสำนักสิ่งแวดล้อมร่วมจัดการประชุมและเป็นผู้บรรยายฯ 

การประชุมเชิงวิชาการแบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก โดยช่วงที่ 1 เป็นการบรรยายเกี่ยวกับความก้าวหน้าและความคิดริเริ่มการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4 ภาคี ดังนี้ 

Mr. Shuhei Okuno รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมืองโยโกฮามา ได้นำเสนอ การจัดทำแผนปฏิบัติการภาวะโลกร้อนเมื่อปี ค.ศ. 2013 ของเมืองโยโกฮามา โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050

นางเสริมสุข นพพันธ์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ได้นำเสนอการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทกรุงเทพมหานครด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556 – 2566 

Mr. Akihiro Miyazaki รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมโลก องค์การ JICA ได้นำเสนอความคาดหวังและความร่วมมือระหว่างเมืองใหญ่ องค์การ JICA ได้ดำเนินให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส ทั้งด้านการลดผลกระทบและด้านการปรับตัว รวมถึงการพัฒนาและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

Ms. Jacqueline Lam รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้และโอชีเนีย องค์การ C40 ได้นำเสนอ โครงการ Deadline 2020 ที่สอดคล้องกับความตกลงปารีส และสนับสนุนเมืองสมาชิกพัฒนาแผนปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 และการส่งเสริมความร่วมมือจากภาคเอกชน

การประชุมช่วงที่ 2 เป็นการอภิปรายของ 4 ภาคี ซึ่งมีหัวข้อการอภิปราย อาทิ ความท้าทายสำหรับการมุ่งสู่การเป็นเมืองที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral City 2050) ความสำคัญของความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Zero Carbon) เป็นต้น การประชุมเชิงวิชาการครั้งนี้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตต่อไป