กทม. ร่วมการสัมมนาในกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ในการประชุม COP26 นำเสนอความท้าทายของการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

          วันพุธ ที่ 3 พ.ย.64 เวลา 20.00 น. นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มอบให้นางสาววรนุช  สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการสัมมนาซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานการในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ในระบบการประชุมทางไกลออนไลน์  ณ ห้องประชุม 2 สำนักสิ่งแวดล้อม

กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรเพื่อดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556 – 2566 (Bangkok Master Plan on Climate Change 2013 – 2023) ตั้งแต่ปี 2561 มาอย่างต่อเนื่อง องค์การ JICA ได้เชิญสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานในการ COP26 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 12 พฤศจิกายน 2564 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยการประชุมครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนประเทศไทย ในการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมผู้นำ COP26 ประกาศเจตนารมณ์ พร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศของประเทศไทย

รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวขอบคุณ JICA ที่ให้โอกาสกรุงเทพมหานคร ร่วมนำเสนอความท้าทายในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการมุ่งสู่เมืองการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ จากการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ผ่านกรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนจากองค์การ JICA และเมืองโยโกฮามามาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อน พ.ศ. 2550 – 2555 และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556 – 2566 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บท ฯ ฉบับใหม่ และเพื่อให้มีความสอดคล้องกับความตกลงปารีส และในการดำเนินงานมีแนวทางส่งเสริมนโยบายและโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนดังกล่าว ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี ค.ศ. 2030 ที่ร้อยละ 19 จาก 4 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ ภาคการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภาคการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานทางเลือก ภาคการจัดการขยะและบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และภาคการวางผังเมืองสีเขียว 

รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้พยายามดำเนินการให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกใหม่ ในปี พ.ศ. 2573 เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส และสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับประเทศ จึงได้จัดทำแผนแม่บทฯ ฉบับใหม่ สร้างความยั่งยืนในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงเทพมหานครต่อไป

         วันศุกร์ที่ 29 ต.ค. 64 กลุ่มงานยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม ได้เชิญ นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรเพื่อการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556 – 2566 (Working group) ณ ห้องประชุม 1 สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์

         กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ในการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรเพื่อดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556 – 2566 (Bangkok Master Plan on Climate Change 2013 – 2023) โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เห็นชอบให้มีการจัดทำเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งขณะนี้สำนักสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับใหม่ เพื่อรับความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภายนอก อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดังกล่าว เป็นต้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและผลักดันให้เกิดแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนต่างๆ ภายในปี พ.ศ. 2573 และเกิดความยั่งยืนในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงเทพมหานคร 
ทั้งนี้  ในการประชุมคณะทำงานอำนวยการฯ ได้มีการหารือแนวทางการดำเนินกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2565 และการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อแผนแม่บทกรุงเทพมหานครฯ ต่อไป