ความเป็นมา

           การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่สำคัญซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของมนุษย์อันเนื่องมาจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas: GHG) สู่ชั้นบรรยากาศปริมาณมากจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ซึ่งส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse effect) โดยนานาประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและเร่งสร้างความร่วมมือ และกำหนดเป้าหมายในการสร้างความรับผิดชอบร่วมกันต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น

      ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปี พ.ศ. 2537 และพิธีสารเกียวโต เมื่อปี พ.ศ. 2545 และมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2558 ในการประชุม COP21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส มติที่ประชุมได้รับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งกำหนดให้แต่ละภาคีต้องจัดทำแจ้งและจัดให้มีการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally determined contributions: NDCs) ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี พ.ศ. 2559 ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี พ.ศ. 2563 (Intended Nationally Determined Contribution : INDC) และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ. 2573 ได้รับมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดเป้าหมายที่ร้อยละ 20 – 25 จากกรณีปกติ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงและแสดงเจตนารมณ์ต่อที่ประชุม โดยประเทศไทยจะยกระดับการดำเนินงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 (พ.ศ.2608) (Net zero greenhouse gas emission) เพื่อยืนยันถึงการให้ความสำคัญสูงสุดในรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศ และทุกภาคต่อไป

      กรุงเทพมหานคร ในฐานะเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นมหานครขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระตุ้นให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก และคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอีก กอปรกับสภาพทางภูมิศาสตร์ กรุงเทพมหานครตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาและมีพื้นที่บางส่วนติดกับอ่าวไทย จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเผชิญกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ อุทกภัยและการกัดเซาะชายฝั่ง ดังปรากฏในเหตุการณ์ปี พ.ศ. 2554 พื้นที่โดยรอบบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานคร ได้ประสบกับเหตุการณ์มหาอุทกภัยซึ่งส่งผลกระทบทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

      กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยในปีพ.ศ. 2550 กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550-2555 กรุงเทพมหานครมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) และเพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและสอดคล้องกับกรอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของระดับประเทศ

      กรุงเทพมหานคร จึงได้จัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับปี พ.ศ. 2564-2573 และยังคงได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) โดยกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อมุ่งสู่การเป็น “เมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวต่อที่ประชุม COP26 และกรุงเทพมหานครยังมีการวางแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นพยายามและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันกับประเทศรัฐภาคีทั่วโลกเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

โครงสร้างการดำเนินงาน

          กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้จัดเตรียมโครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Steering Committee: SC) คณะทำงานอำนวยการขับเคลื่อนแผนแม่บท (Working Group: WG) คณะทำงานขับเคลื่อนแผน 5 ภาคส่วน (Task Force: TF) สำหรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรุงเทพมหานครได้ขับเคลื่อนการดำเนินการผ่านกลไกที่เป็นโครงสร้างเชิงสถาบัน โดยมีกลุ่มงานยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Strategy Subdivision: CCS) กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานประสานและขับเคลื่อนการดำเนินงานในนามฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประสานงานด้านนโยบาย การดำเนินงานในเชิงเทคนิค วิชาการ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง